การเสริมกำลังใจ

การเสริมกำลังใจ
         
                 การเสริมกำลังใจเป็นพฤติกรรมที่วิทยากรสนองตอบผู้เรียน   ในรูปของการตอบด้วยวาจา   การเขียนหรือการสัมผัส   จัดเป็นทักษะที่จำเป็นต่อการสอน   เพราะการเสริมกำลังใจจะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้เรียน   การเสริมกำลังใจอาจแบ่งได้ 3 ประเภท
        
 1.   การเสริมกำลังใจที่พึงปรารถนา   เช่น   การยอมรับความคิดเห็นของผู้เรียน   โดยอาจแสดงออกในรูปแบบของการชม   การปรบมือ ฯลฯ
         
2.  การเสริมกำลังใจที่มีปฏิกิริยาเป็นกลาง  เช่น  การตอบคำว่าถูก เห็นด้วย   ด้วยน้ำเสียงกลางๆ ไม่มีการเน้น
        
 3.   การเสริมกำลังใจชนิดที่ไม่พึงปรารถนา   เช่น   การไม่ยอมรับความคิดเห็น
          การเสริมแรงใจแต่ละประเภท   จะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้เรียนต่างกัน   วิทยากรควรพยายามใช้การเสริมกำลังใจในการสอน   โดยการปรับปรุงให้เหมาะสมกับผู้เรียน   จังหวะและโอกาส   อาจกล่าวได้ว่าหากมีการใช้การเสริมกำลังใจถูกต้อง   ผู้เรียนจะสนใจบทเรียนมากขึ้น   มีความมั่นใจและกล้าแสดงออก   หรืออาจเกิดแรงจูงใจที่จะค้นหาความรู้ยิ่งขึ้น
           
วิธีการเสริมกำลังใจ
          วิธีการเสริมกำลังใจที่อาจนำมาใช้ในการสอน   หรือการฝึกอบรมได้แก่
          1.   การเสริมกำลังใจด้วยวาจา   เช่น   การกล่าวว่าดี   ดีมาก   ใช้ได้   ถูกต้อง   เป็นความคิดที่เฉียบแหลม ฯลฯ
          2.   การเสริมกำลังใจด้วยท่าทาง   เช่น   การยิ้ม   การพยักหน้า   การใช้สายตาแสดงความสนใจในคำตอบ   การปรบมือ ฯลฯ
          3.   การเสริมกำลังใจด้วยการให้รางวัลหรือสัญลักษณ์   เช่น   การให้สิ่งของเมื่อผู้เรียนตอบถูกต้อง   การเขียนเครื่องหมาย  เช่น  รูปดาว   พร้อมคำชมเชย   การจารึกชื่อบนฝาผนัง   การนำผลงานของผู้เข้ารับการอบรมมาแสดงเป็นตัวอย่าง  เป็นต้น
         
         
   การนำการเสริมกำลังใจมาใช้ในการเรียนการสอน
          การนำการเสริมกำลังใจมาใช้ในการเรียนการสอนอาจทำได้   ดังนี้
          1.   เสริมกำลังใจในจังหวะที่เหมาะสม   เช่น   เมื่อผู้เรียนตอบถูกก็ชมทันที
          2.   ไม่พูดเกินความจริง   มิฉะนั้นผู้ฟังจะขาดความศรัทธา   เช่น   เมื่อผู้เรียนตอบถูกทั้งหมดก็อาจชมว่า เก่งมากๆ   เก่งจริงๆ   แต่ถ้าผู้เรียนตอบถูกเป็นบางส่วนก็ชมเชยเฉพาะส่วนที่ถูก   พร้อมทั้งแนะนำส่วนที่ผิด
          3.   ใช้วิธีในการเสริมกำลังใจหลายๆ วิธี   ไม่ใช่พูดคำที่ซ้ำซาก   จำเจกับผู้เรียนทุกคน
          4.   ไม่ควรเสริมกำลังใจบางประเภทบ่อยเกินไป   เช่น   การให้รางวัล   เพราะจะทำให้ผู้เรียนไม่เห็นคุณค่าของการเสริมกำลังใจนั้น
          5.   พยายามหาโอกาสเสริมกำลังใจให้ทั่วถึงกัน (ไม่จำเป็นต้องเสริมในชั่วโมงเดียวกัน)   โดยใช้วิธีการเสริมกำลังใจต่างกัน   และในโอกาสต่างๆ กัน
          6.   การเสริมกำลังใจควรเป็นไปในทางบวกมากกว่าทางลบ
          7.   การเสริมกำลังใจไม่ควรมาจากวิทยากรเพียงคนเดียว   ควรใช้สิ่งแวดล้อมช่วยด้วย   เช่น   ให้ผู้เรียนคนอื่นปรบมือ
          8.   เสริมกำลังใจด้วยท่าทีที่จริงจัง   อาจต้องใช้วาจาและท่าทางประกอบด้วย


            ข้อควรพิจารณาเมื่อใช้การเสริมกำลังใจ
          1.   ผู้เรียนควรได้รับการเสริมกำลังใจทันที   เมื่อผู้เรียนแสดงพฤติกรรมที่สอดคล้องกับเป้าหมายของการเรียนการสอน
          2.   ควรเลือกวิธีการเสริมกำลังใจให้เหมาะกับผู้เรียนแต่ละคน
          3.   การทำโทษ   โดยทั่วไปไม่ใช่เป็นการเสริมกำลังใจที่พึงปรารถนา   แต่ใช้เมื่อต้องการกำจัดพฤติกรรมนั้นๆ
          4.   การเสริมกำลังใจมีลักษณะพิเศษ   คน 2 คนซึ่งได้รับการเสริมกำลังใจที่เหมือนกัน   ผู้เรียนคนหนึ่งอาจเห็นว่าการเสริมกำลังใจนั้นเป็นสิ่งไม่มีค่าก็ได้   ทั้งนี้   ขึ้นอยู่กับจิตใจของผู้ได้รับการเสริมกำลังใจ
          5.   การเสริมกำลังของวิทยากรอย่างแข็งขัน   รวมทั้งการบอกกล่าวอย่างตรงไปตรงมา   จะมีผลดีกว่าการเสริมกำลังใจแบบเฉื่อยชา   และการอ้อมค้อม   ไม่ตรงประเด็น
          6.   การเสริมกำลังใจเป็นการช่วยให้ผู้ได้รับการเสริมแรง   ทราบข้อมูลเกี่ยวกับการกระทำของตน   หรือทราบว่าสิ่งที่ตนแสดงไปนั้นเป็นอย่างไร   ดังนั้น   การเสริมแรงจึงอาจใช้เป็นเครื่องช่วยแก้ไขพฤติกรรมได้
          7.   การเสริมกำลังใจในทางลบโดยการลงโทษ   มิได้เป็นวิธีการที่ทำให้ผู้เรียนเปลี่ยนพฤติกรรมไปในทางที่พึงปรารถนาได้เสมอไป   แต่อาจทำให้ผู้เรียนหยุดแสดงพฤติกรรมนั้นชั่วขณะ   เมื่อวิทยากรจำเป็นต้องใช้การลงโทษ   วิทยากรควรบอกให้ผู้เรียนทราบถึงพฤติกรรมที่ต้องการ   เมื่อผู้เรียนแสดงพฤติกรรมที่วิทยากรต้องการ   วิทยากรก็ควรเสริมกำลังใจผู้เรียนทันที
          8.   เมื่อผู้เรียนไม่สามารถแสดงพฤติกรรมที่วิทยากรต้องการได้   แต่ได้แสดงพฤติกรรมใกล้เคียง   วิทยากรควรให้การเสริมกำลังใจ   เพื่อให้ผู้เรียนนั้นมีกำลังใจ   และมีความพยายามมากขึ้น   ในที่สุดผู้เรียนอาจจะแสดงพฤติกรรมที่พึงประสงค์ได้สำเร็จ
          9.   การเสริมกำลังใจควรทำอย่างสม่ำเสมอ   อย่างมีระบบและมีระเบียบ
          10. ผู้เรียนที่เรียนเก่ง   อาจไม่ต้องการคำชมหรือความช่วยเหลือจากวิทยากรมากเท่ากับผู้เรียนที่เรียนอ่อน   ยิ่งมีอายุน้อยเท่าใดย่อมต้องการเสริมกำลังใจมากขึ้นเพียงนั้น
          11. พฤติกรรมการเสริมกำลังใจที่เป็นกลางๆ ของวิทยากร   หากทำบ่อยๆ ผลอาจเป็นลบได้   จะทำให้ผู้เรียนหมดกำลังใจ
          กล่าวโดยสรุป   คือ   การเสริมกำลังใจมีมากมายหลายอย่าง   วิทยากรจำเป็นต้องดูความเหมาะสมก่อนพิจารณาเลือกใช้   จึงจะบังเกิดผลตรงกับความต้องการมากที่สุด