การสอดแทรกคุณธรรมและจิยธรรม




ในภาวะที่โลกกำลังไหลไปตามกระแสทางด้านวัตถุอย่างไม่หยุดนิ่ง ส่งผลให้คนเกือบทุกสังคมตกอยู่ภายใต้การครอบงำของค่านิยมทางวัตถุ ส่งผลให้มนุษย์ต้องเผชิญหน้ากับปัญหาต่าง ๆ โดยเฉพาะปัญหาความเสื่อมทรามด้านศีลธรรม บางครั้งผู้คนในบางสังคมก็ได้รวมตัวกันออกมาเรียกร้องจริยธรรมกับผู้บริหารประเทศ เหตุการณ์ดังกล่าวได้สะท้อนถึงจุดวิกฤติบางอย่างที่กำลังเกิดขึ้นจริงในสังคม                                           
                ปัจจุบันทุกสถาบันการศึกษาได้ให้ความสำคัญกับการสอดแทรกคุณธรรม จริยธรรมเข้าในกิจกรรมการเรียนการสอนในทุกรายวิชา เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ของผู้เรียนควบคู่ไปกับคุณธรรม จริยธรรม ซึ่งจะช่วยส่งเสริมความก้าวหน้าและความสำเร็จให้แก่ชีวิตของผู้เรียน อีกทั้งยังเป็นการสร้างคุณลักษณะของบัณฑิตที่พึงประสงค์ให้แก่สังคมไทยด้วย ซึ่งจากการเข้าร่วมสัมมนาเกี่ยวกับเรื่องนี้ทำห้ได้ข้อคิดที่ว่า กระบวนการสอดแทรกคุณธรรมต้องทำแบบเชื่อมโยง ตามองค์ประกอบต่อไปนี้           
           1. สถานที่และสภาพแวดล้อมในสถาบันการศึกษาเอื้อต่อการปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรม เช่น มีความสะอาด เป็นระเบียบ เรียบร้อย ร่มรื่น เป็นต้น   
           2. บุคคล หมายถึง ทุกคนในองค์กรที่ต้องเป็นต้นแบบทางคุณธรรม จริยธรรม และต้องช่วยกันสอดแทรกคุณธรรม จริยธรรมให้แก่นักศึกษา มิใช่ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง หรือคนใดคนหนึ่งเป็นผู้รับผิดชอบ           
           3. หลักสูตร หมายถึง ทุกรายวิชาต้องสอดแทรกคุณธรรม จริยธรรมเข้าไปด้วยอาจมากหรือน้อยก็ได้   ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความเหมาะสม หมายความว่า อาจารย์ทุกท่านจะต้องทำหน้าที่สอดแทรกคุณธรรม จริยธรรมเข้าไปในเนื้อหาของทุกรายวิชาที่เปิดสอน      
           4. กิจกรรม หมายถึง ทุกกิจกรรมที่เกี่ยวกับนักศึกษาที่จัดขึ้นทั้งในมหาวิทยาลัยและนอกมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะกิจกรรมในชั้นเรียน ต้องมุ่งเน้นให้เกิดความสำนึกในคุณธรรม จริยธรรม เป็นสำคัญ 
           การสอดแทรกคุณธรรม จริยธรรมทั้ง 4 ข้อนั้น ต้องทำให้เป็นเอกีภาพ หมายถึง ทุกหน่วยงาน บุคลากรทุกคนต้องร่วมใจกันทำ และต้องมีลักษณะเป็น อนุสาสนี หมายถึง การสอดแทรกอย่างต่อเนื่อง มิใช่ ทำ ๆ หยุด ๆ เหมือนไฟไหม้ฟาง และต้องกำหนดเป็นนโยบายของมหาวิทยาลัยที่ให้ทุกคนต้องปฏิบัติตาม

วิธีการสอดแทรกคุณธรรมและจริยธรรมในรายวิชาที่สอน
                การสอดแทรกคุณธรรมและจริยธรรมให้แก่นักศึกษานั้นสามารถทำได้ในทุกรายวิชา ทั้งนี้ ก็ขึ้นอยู่กับผู้สอนว่าจะใช้วิธีการใดในการสอดแทรก ซึ่งขอยกตัวอย่างจากประสบการณ์ที่เคยใช้มาตั้งแต่ทำหน้าที่เป็นผู้สอน ดังต่อไปนี้
                1. การให้นักศึกษาได้ค้นพบคุณธรรม จริยธรรมจากประสบการณ์ตรงจากเนื้อหาของกิจกรรมหรือตัวบุคคลต้นแบบ แบ่งออกเป็น 3 ลักษณะ ได้แก่
                                1.1 การนำนักศึกษาไปศึกษาและปฏิบัตินอกสถานที่ ซึ่งต้องกำหนดให้สอดคล้องกับรายวิชา และตั้งจุดมุ่งหมายของการสอดแทรกคุณธรรมและจริยธรรมไว้ด้วย ตัวอย่างเช่น
                                                1.1.1 การปฏิบัติธรรม เป็นกิจกรรมที่มุ่งให้นักศึกษาได้เรียนรู้การฝึกสมาธิ และสาระที่จะได้จากการฟังธรรม สนทนาธรรมกับพระวิปัสสนาจารย์ นอกจากนี้ ยังได้บำเพ็ญประโยชน์ต่อวัด เช่น การทำความสะอาด การบริจาคทรัพย์ตามกำลังศรัทธา เป็นต้น
                                                1.1.2 การปลูกป่า ซึ่งทำทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย เช่น โครงการปลูกป่าชายเลนร่วมกับกองทัพเรือ เป็นการปลูกฝังให้นักศึกษาเห็นความสำคัญของสิ่งแวดล้อมที่มีต่อวัฏจักรของชีวิตอันจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้นักศึกษารักและหวงแหนธรรมชาติต่อไป
                                                1.1.3 การชื่นชมสุนทรียะจากงานศิลป์ ตามวัดวาอารามหรือสถานที่สำคัญ เพื่อปลูกฝังความรัก ความหวงแหนในมรดกของชาติที่เป็นภูมิปัญญาของบรรพบุรุษไทย
                                1.2 การเชิญบุคคลต้นแบบทางคุณธรรม จริยธรรมมาให้ข้อคิดกับ     นักศึกษาในชั้นเรียน ซึ่งผู้สอนได้กำหนดถึงความเหมาะสมของบุคคลต้นแบบ โดยไม่ได้คำนึงว่า บุคคลดังกล่าวต้องเป็นคน  ที่มีชื่อเสียง โด่งดังระดับชาติ แต่เป็นใครก็ได้ที่สามารถเป็นต้นแบบทางคุณธรรม จริยธรรม โดยยึดหลักการที่ว่า แบบที่ดี เป็นสื่อการสอนที่วิเศษสุด
                                1.3 การศึกษาจากบุคคลตัวอย่างที่ต้องกำหนดให้หลากหลายอาชีพ เช่น แม่ค้าขายไข่ปิ้ง คนขับรถแท็กซี่ เป็นต้น เพื่อให้นักศึกษาได้ไปพูดคุยกับคนเหล่านั้น พร้อมทั้งเก็บหลักฐานและข้อมูลเพื่อนำเสนอในชั้นเรียนและส่งผู้สอนเพื่อประเมินผล กิจกรรมนี้ เน้นให้นักศึกษาค้นพบคุณธรรม จริยธรรมและวิสัยทัศน์ที่เป็นหลักแห่งการดำเนินชีวิตที่ประสบความสำเร็จ ความสุขตามจากบุคคลตัวอย่างที่ไปศึกษา
                2. การสอดแทรกโดยใช้สื่อการเรียนรู้ ซึ่งทางกลุ่มผู้สอนได้ร่วมกันคัดเลือกสื่อการเรียนรู้ที่มีเนื้อหาสอดคล้องกับรายวิชาและสามารถสร้างจิตสำนึกหรือปลุกเร้าให้นักศึกษาได้ซึมซับคุณธรรม จริยธรรม ได้แก่สื่อของรายการคนค้นคนของบริษัททีวีบูรพา ดังรายละเอียดโดยสังเขปในหัวข้อต่อไป
                นี่คือตัวอย่างกิจกรรมที่สอดแทรกคุณธรรม จริยธรรมที่ได้ดำเนินการแล้ว โดยกิจกรรมที่จัดขึ้น ส่วนใหญ่ ผู้สอนจะทำการประเมินเพื่อวัดความพึงพอใจในกิจกรรมและเพื่อทราบข้อบกพร่องหรือข้อควรแก้ไขเพื่อให้กิจกรรมที่จะทำในครั้งต่อไปเป็นประโยชน์ต่อผู้เรียนและบรรลุจุดมุ่งหมายมากขึ้น ซึ่งนักศึกษาส่วนใหญ่มีความพึงพอใจและแสดงความคิดเห็นว่าเป็นกิจกรรมที่ก่อให้เกิดประโยชน์และสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ในระดับมากและมากที่สุด

กิจกรรมการสอดแทรกคุณธรรม จริยธรรม ผ่านสื่อการเรียนรู้
                ดังได้กล่าวไว้ในข้อที่ 2 แล้วว่า ทางผู้สอนได้เลือกเอาสื่อการเรียนรู้ในรายการคนค้นคนของบริษัททีวีบูรพาเป็นตัวอย่างในการทำกิจกรรม เนื่องจากมีเนื้อหาที่เป็นปรัชญาชีวิต บุคคลตัวอย่างในแต่ละเรื่องสามารถเป็นต้นแบบทางคุณธรรม จริยธรรม และเหมาะแก่การปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรมให้แก่นักศึกษาได้เป็นอย่างดี โดยมีข้อกำหนดในการดำเนินการดังต่อไปนี้
                1. สาระสำคัญ ผู้สอนต้องกำหนดสาระสำคัญของกิจกรรมว่ามุ่งเรื่องใดบ้าง เพื่อใช้เป็นแนวทางในการสรุปเนื้อหาหลังจากที่ทำการประเมินและส่งงานคืนให้แก่นักศึกษาแล้ว อันจะส่งผลให้นักศึกษาได้เข้าใจเนื้อหาในทฤษฎีและซึมซับคุณธรรม จริยธรรมของบุคคลตัวอย่างมากขึ้น
                2. ทฤษฎีประกอบกิจกรรม ผู้สอนต้องกำหนดไว้ในแผนการสอนให้สอดคล้องกับเนื้อหาของสื่อการเรียนการสอนอันจะส่งผลให้นักศึกษามีความเข้าใจในภาคทฤษฎีและนำไปสู่การปฏิบัติจริงได้มากขึ้น
                3. สื่อการเรียนรู้ ผู้สอนต้องคัดเลือกให้สอดคล้องกับสาระสำคัญที่กำหนดไว้ในข้อที่หนึ่ง และเข้ากับทฤษฎีที่ใช้ประกอบการบรรยายด้วย ที่สำคัญสื่อการเรียนรู้ที่จะนำมาใช้ประกอบจะต้องผ่านการศึกษาโดยผู้สอนอย่างน้อย 2 ครั้ง เพื่อให้ผู้สอนสามารถกำหนดหัวข้อที่จะประเมินได้เหมาะสมกับเป้าหมายของการสอดแทรกคุณธรรม จริยธรรม ขอให้ดูตัวอย่างของสื่อการเรียนรู้ 8 เรื่อง ที่กลุ่มของผมใช้เป็นตัวอย่างแห่งการเรียนรู้และสอดแทรกคุณธรรม จริยธรรม ดังต่อไปนี้
                                3.1 VCD รายการคนค้นคน เรื่อง ช่างก้อมกับชีวิตที่ซ่อมได้ ซึ่งเนื้อเรื่องกล่าวถึงชายพิการแขนด้วนทั้งสองข้าง และขาข้างซ้ายก็ด้วนด้วย แต่เขาไม่เคยยอมจำนนต่อความพิการ พัฒนาตนจนเป็นช่างซ่อมวิทยุ โทรทัศน์ เครื่องเสียงได้อย่างน่าอัศจรรย์ โดยยึดปรัชญาชีวิตที่ว่า ต้องทำให้คนอื่นรู้ว่าตนก็มีค่าต่อสังคม นี่คือตัวอย่างหนึ่งของการสร้างโลกทัศน์ในการดำเนินชีวิตจนประสบความสำเร็จ ซึ่งผู้สอนได้กำหนดเป็นตัวอย่างของการเรียนรู้และการสอดแทรกคุณธรรมและจริยธรรมในเรื่องนี้ นอกจากนี้ ยังมีคุณธรรม จริยธรรมอีกมากมายที่บุคคลตัวอย่างได้กระทำให้เป็นแบบอย่าง เช่น ความกตัญญู กตเวทีต่อพ่อแม่ การบำเพ็ญประโยชน์ต่อสังคม การมีน้ำใจต่อผู้อื่น ความรัก ความซื่อสัตย์ต่อภรรยา ความรับผิดชอบต่อหน้าที่ เป็นต้น โดยใช้ประกอบกิจกรรมการปลูกฝังโลกทัศน์แห่งการต่อสู้ชีวิต ประกอบทฤษฎีบทที่ 1 ความเข้าใจเบื้องต้นเกี่ยวกับโลกทัศน์ที่ว่าด้วยความหมาย ความสำคัญ และวิธีการสร้างโลกทัศน์   
                                3.2 VCD รายการคนค้นคน เรื่อง ต้นข้าว ลูกไม้ในไร่เงา ซึ่งเนื้อรื่องกล่าวถึงการดำเนินชีวิตของครอบครัวหนึ่ง ที่ผู้นำครอบครัวใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย เป็นธรรมชาติ มีความพอเพียงในชีวิต ชีวิตความเป็นอยู่ผสมผสานกลมกลืนกับธรรมชาติ ที่สำคัญเขาพยายามปลูกฝังการดำเนินชีวิตแบบธรรมชาติให้แก่ชีวิตน้อย ๆ นั่นคือลูกสาว ต้นข้าว ทำให้เด็กหญิงเติบโตและดำเนินชีวิตบนเส้นทางธรรมชาติ มีจิตวิญญาณที่เข้มแข็ง ฉลาด สามารถช่วยเหลือตัวเองได้เกือบทุกเรื่อง ดูแล้วน่าทึ่ง และน่านำมาเป็นแบบอย่างในการดำเนินชีวิตให้แก่นักศึกษา นอกจากนี้ บุคคลต้นแบบ ยังได้ถ่ายทอดคุณธรรม จริยธรรมผ่านการดำเนินชีวิตอีกหลายเรื่อง เช่น ความมีระเบียบวินัย ความใฝ่รู้ ความรู้จักพอเพียง    เป็นต้น โดยใช้ประกอบกิจกรรมการดำเนินชีวิตบนเส้นทางธรรมชาติ ประกอบทฤษฎีบทที่ 5 ทัศนคติเกี่ยวกับชีวิตตามแนวคิดทางปรัชญาและศาสนา ที่ว่าด้วยความหมาย องค์ประกอบของชีวิต ความขัดแย้งของชีวิต ความเสมอภาคของชีวิต และการสร้างความสมดุลให้แก่ชีวิต
                                3.3 VCD รายการคนค้นคน เรื่อง ตุ๊ดตู่ ผู้น่ารัก ซึ่งเนื้อเรื่องได้กล่าวถึง คนไม่ปกติ ชื่อตุ๊ดตู่ ที่คนทั่วไปมักเรียกเขาว่า คนปัญญาอ่อน  แต่เขาสามารถดำเนินชีวิตโดยที่ไม่ต้องเป็นภาระของใคร การดำเนินชีวิตของเขาจะเป็นระเบียบ มีวินัยในตัวเอง และไม่เคยสร้างความเดือดร้อนให้แก่ใคร แต่กลับมีน้ำใจต่อคนรอบข้าง ที่สำคัญเขายังทำประโยชน์ให้แก่สังคมด้วยการกวาดขยะตามถนนโดยไม่ต้องการอามิสสินจ้าง คำชื่นชม หรือคำสรรเสริญ แต่เขาทำตามเสียงเรียกร้องจากหัวใจที่เปี่ยมด้วยความดีที่คนปกติสามารถนำไปเป็นแบบอย่างในการดำเนินชีวิตได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการมีวินัย การพึ่งตัวเอง การมีน้ำใจต่อผู้อื่น การทำงานเพื่อสังคมโดยไม่ต้องการอามิสสินจ้าง เป็นต้น โดยใช้ประกอบกิจกรรมการสร้างค่าและความหมายของชีวิต ประกอบทฤษฎีบทที่ 5 ทัศนคติเกี่ยวกับชีวิตตามแนวคิดทางปรัชญาและศาสนาที่ว่าด้วยค่าและความหมายของชีวิต
                                3.4 VCD รายการคนค้นคน เรื่อง แกะรอยปู่เย็น เฒ่าทระนง เรื่องนี้ กล่าวถึง ชายชราอายุ 84 ที่ใช้ชีวิตอย่างทระนง พึ่งตัวเอง ไม่เคยขอใคร มีวิถีชีวิตที่เรียบง่าย ไม่ทะเยอทะยาน  ไม่เย่อหยิ่ง อาศัยอยู่บนเรือลำน้อย เก่า ๆ ในแม่น้ำเพชรบุรี การดำเนินชีวิตของชายชราแฝงไว้ด้วยแนวคิดที่เป็นปรัชญาธรรมอันล้ำค่า ควรค่าแก่การศึกษา และสามารถนำมาเป็นแบบอย่างในการดำเนินชีวิตได้ในหลาย ๆ เรื่อง เช่น ความซื่อสัตย์ ความพอเพียง ความขยัน ความอดทน ความประหยัด เป็นต้น โดยใช้ประกอบกิจกรรมการสร้างอุดมคติของชีวิตที่ถูกต้อง ประกอบทฤษฎีบทที่ 6 อุมคติตามแนวคิดทางปรัชญาและศาสนา ที่ว่าด้วยความหมาย และแนวทางแสวงหาสิ่งที่มีค่าสูงสุดให้แก่ชีวิต
            3.5 VCD รายการคนค้นคน เรื่อง ผู้ชายผู้ถอยหลังไปข้างหน้า เรื่องนี้ กล่าวถึงชายคนหนึ่งที่ทิ้งชีวิตที่พร้อมทุกอย่างในเมืองไปใช้ชีวิตในป่าเขา ท่ามกลางธรรมชาติ เพื่อค้นหาความจริงของชีวิต ใช้ชีวิตที่เรียบง่าย สัมพันธ์กับธรรมชาติ การดำเนินชีวิตของเขาสอดคล้องกับแนวคิดทางปรัชญาและศาสนาที่กล่าวถึงบัณฑิต คือคนที่ดำเนินชีวิตด้วยปัญญา การดำเนินชีวิตของได้ให้แนวคิดหลาย ๆ เรื่อง เช่น การทำงานกับการฝึกสมาธิ การใช้เทคโนโลยีตามธรรมชาติ การใช้ทรัพยากรทางธรรมชาติให้เกิดประโยชน์สูงสุด วิธีการเลี้ยงลูกแบบธรรมชาติ การใช้ธรรมชาติบำบัดโรค เป็นต้น นับว่าเป็นต้นแบบทางแนวคิด คุณธรรม จริยธรรมที่ดีงามในหลาย ๆ เรื่อง เหมาะแก่การปลูกฝังการดำเนินชีวิตด้วยปัญญาให้แก่นักศึกษา โดยใช้ประกอบกิจกรรมการเป็นบัณฑิตที่พึงประสงค์ของสังคม ประกอบทฤษฎีบทที่ 7 บัณฑิตกับการสร้างสรรค์สังคม ที่ว่าด้วยความหมาย ลักษณะ คุณธรรมของบัณฑิต และบัณฑิตกับการอุทิศตนสร้างสรรค์สังคม
             3.6 VCD รายการคนค้นคน เรื่อง เปลี้ย ยอดกตัญญู เนื้อเรื่องกล่าวถึง ครอบครัวหนึ่งที่พ่อแม่มีฐานะยากจน มีลูก ๑๐ คน ในยามที่พ่อแม่ยังหนุ่มสาว ได้พยายามทำมาหากินเลี้ยงลูกจนเติบใหญ่ หลังจากที่ลูกโตเป็นหนุ่มสาวก็แยกออกไปมีครอบครัวใหม่ โดยที่ไม่สนใจใยดีต่อพ่อแม่ที่     ชราภาพ ไม่แข็งแรง และผู้เป็นพ่อได้ถูกโรครุมเร้าจนทำอะไรไม่ได้ แต่ในความโชคร้ายของพ่อแม่ดังกล่าวก็ยังมีความโชคดีอยู่บ้าง กล่าวคือลูกชายคนสุดท้องที่เป็นคนไม่สมประกอบ แต่เขาไม่เคยทอดทิ้งพ่อแม่ กลับเป็นหลักในการทำมาหากินเลี้ยงพ่อ แม่ด้วยการปลูกผัก เผาถ่าน และเก็บผักไปขาย โดยใช้รถเข็นลากแม่ไปขายผักหาเงินมายังชีพ เป็นภาพที่น่านำมาเป็นแบบอย่างและปลูกฝังคุณธรรมคือกตัญญู กตเวที ให้แก่คนที่สมประกอบที่ยังขาดจิตสำนึกในพระคุณของพ่อ แม่ โดยใช้ประกอบกิจกรรมการปลูกฝัง ความกตัญญู กตเวที ประกอบทฤษฎีบทที่ 9 ศาสนากับวัฒนธรรม โดยยกประเด็นของวัฒนธรรมไทยที่เกี่ยวกับความกตัญญู กตเวทีเป็นประเด็นหลัก
            3.7 VCD รายการคนค้นคน เรื่อง กว่าจะสิ้นลมหายใจ  เนื้อเรื่องกล่าวถึงครอบครัวหนึ่งที่อยู่กันด้วยความรัก โดยเฉพาะภรรยาที่ดูแลสามีที่เจ็บป่วย ไม่เคยทอดทิ้ง มีความรักที่มั่นคงต่อสามี ไม่เคยคิดนอกใจ ที่สำคัญเธอยังทำหน้าที่ภรรยาที่ดีของสามีอย่างเสมอต้น เสมอปลาย และกลายมาเป็นผู้นำครอบครัวที่เข้มแข็งเลี้ยงดูครอบครัวทั้งสามี และลูกอีกสองคน ที่สำคัญลูก ๆ ทั้งสองคนก็ได้ช่วยเหลือพ่อแม่เป็นอย่างดี ซึ่งกลุ่มผู้สอนพิจารณาว่าครอบครัวนี้เป็นต้นแบบของความรักที่เป็นกุศลที่ควรนำมาเป็นตัวอย่างของการเรียนรู้และปลูกฝังความรักที่ถูกต้องให้แก่นักศึกษา เพื่อลดค่านิยมเรื่องความรักที่ผิด ๆ  โดยใช้ประกอบกิจกรรมการปลูกฝัง เรื่องความรักที่เป็นกุศล ประกอบทฤษฎีบทที่ 10 ปรัชญาการครองรัก ครองเรืองในพระพุทธศาสนาที่ว่าด้วยการสร้างความรักที่เป็นกุศลต่อกัน
            3.8 VCD รายการคนค้นคน เรื่อง แม่ไม่ต้องร้องให้  เรื่องนี้ กล่าวถึง เด็กหญิงอายุ 11 ขวบ และเด็กชายอายุ 10 ขวบ สองพี่น้อง ที่ต้องมาแบกภาระความรับผิดชอบครอบครัวแทนแม่ซึ่งป่วยเป็นโรคมะเร็งระยะสุดท้ายและพ่อที่ไม่ยอมรับผิดชอบครอบครัว ปล่อยชีวิตให้จมปลักอยู่กับอบายมุข เคยขายและเสพยาบ้า เคยติดคุกมาหลายครั้ง สุดท้ายมาจมปลักอยู่กับสุรา โดยที่ไม่สนใจความลำบากของลูกเมีย สะท้อนถึงปัญหาสังคมที่เกิดขึ้นกับหลาย ๆ ครอบครัว แต่ในมุมหนึ่งก็สะท้อนถึงความกตัญญู กตเวทีที่ลูกมีต่อบุพการี ในขณะเดียวกันก็เป็นการย้ำให้คนที่เป็นผู้นำครอบครัวตระหนักถึงความรับผิดชอบต่อครอบครัวด้วย โดยใช้ประกอบกิจกรรมการเลือกทางดำเนินชีวิตที่ถูกต้องบนพื้นฐานของความรับผิดชอบ ประกอบทฤษฎีบทที่ 11 เกณฑ์ตัดสินจริยธรรมทางปรัชญา ที่ว่าด้วยการเลือกทางดำเนินชีวิตที่ดีงาม โดยเน้นการใช้ปัญญาเลือกทางดำเนินชีวิตที่ถูกต้อง
                หมายเหตุ กิจกรรมในลักษณะนี้ ผู้สอนอาจทำมากกว่าหรือน้อยกว่ากิจกรรมที่ทางกลุ่มผู้สอนของมหาวิทยาหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติกำหนดก็ได้ ทั้งนี้ ก็ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของธรรมชาติรายวิชา กลุ่มผู้เรียน และระยะเวลาด้วย
4. หัวข้อที่ใช้ประเมิน ผู้สอนต้องกำหนดหัวข้อที่ต้องสัมพันธ์กันทั้งเนื้อหาตามทฤษฎี สาระสำคัญที่กำหนดไว้ และเป้าหมายของกิจกรรมที่เน้นคุณธรรม จริยธรรมในข้อใด
5. เกณฑ์การประเมิน ผู้สอนต้องกำหนดให้ชัดเจนว่าในแต่ละกิจกรรมจะให้น้ำหนักคะแนนเท่าใด นอกจากนี้ ยังต้องทำข้อตกลงกับนักศึกษาถึงเกณฑ์การประเมินว่าใช้หลักการใดบ้าง เพื่อให้นักศึกษาปฏิบัติตามเงื่อนไข และไม่มีข้อโต้แย้งภายหลัง ซึ่งเกณฑ์ที่ประเมินควรครอบคลุมทั้งทางด้านจิตพิสัย ทักษพิสัย และพุทธิวิสัย โดยขอยกตัวอย่างที่กลุ่มผู้สอนใช้เป็นเกณฑ์ดังต่อไปนี้
                                5.1 ความรับผิดชอบ คือ การตรงต่อเวลา โดยกำหนดดังนี้ ผู้ที่เข้าเรียนตรงเวลา ไม่สาย ได้รับแบบทำกิจกรรมชุดที่ 1 (ประเมินสูงสุดที่ 5 คะแนน) ผู้ที่เข้าสาย (หลัง 30 นาที) ได้รับแบบกิจกรรมชุดที่ 2 (ประเมินสูงสุดที่ 4 คะแนน) และผู้ที่เข้าเรียนตอนที่ให้ทำกิจกรรม จะได้รับแบบกิจกรรมชุดที่ 3 (ประเมินสูงสุดที่ 3 คะแนน) (จิตพิสัย)
                                5.2 ความตั้งใจ ดูจากการเขียน เช่น ความเป็นระเบียบเรียบร้อย มีความสะอาดสะอาด เป็นต้น (จิตพิสัย)
                                5.3 การจับประเด็นสำคัญของเรื่อง ซึ่งอาจไม่ตรงกับประเด็นที่ผู้สอนกำหนดไว้ก็ได้
แต่ต้องอยู่ในกรอบของเนื้อหาในทฤษฎีและสื่อการเรียนรู้ที่กำหนดให้ (ทักษพิสัย)
                                5.4 การโยงเนื้อเรื่องเข้ากับทฤษฎีที่เรียนได้อย่างสอดคล้องถูกต้อง (พุทธิวิสัย)
              6. การให้นักศึกษาประเมินกิจกรรม ผู้สอนควรทำแบบประเมินกิจกรรม เพื่อวัดทัศนคติ ความพึงพอใจ และเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้แสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม เพื่อรวบรวมข้อมูลนำมาแก้ไข ปรับปรุงกิจกรรมในครั้งต่อไป
              หลักการทั้งหมดที่กล่าวมา มิใช่เป็นข้อยุติว่า ผู้สอนท่านอื่น ๆ จะต้องยึดตามแนวนี้ทั้งหมด แต่อาจจะเพิ่มเติมหลักการ วิธีการเข้าไปเพื่อให้เกิดความสมบูรณ์ ดังนั้น เรื่องทั้งหมดที่นำเสนอนี้ จึงเป็นเพียงแค่ตัวอย่างหนึ่งที่กลุ่มผู้สอนในมหาวิทยาลัยหัวเฉียวพระเกียรติใช้ทำกิจกรรม ซึ่งจะต้องมีข้อแก้ไข ปรับปรุงต่อไปอีกในอนาคต

บทสรุปและข้อเสนอแนะเพิ่มเติม
                การสอดแทรกคุณธรรม จริยธรรมที่กล่าวมาข้างต้นนั้น เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ซึ่งกลุ่มผู้สอนไม่ได้ถือว่าเป็นเกณฑ์ตายตัว โดยผู้สอนท่านอื่น ๆ สามารถนำไปประยุกต์ให้สอดคล้องกับรายวิชาที่ใช้ประกอบการสอดแทรกคุณธรรม จริยธรรมหรือกลุ่มของผู้เรียน โดยมีข้อเสนอแนะที่กลุ่มผู้สอนใช้ยึดเป็นหลักปฏิบัติ 3 ประการ คือ
                1. ตั้งความรัก ความปรารถนาดีต่อศิษย์ มุ่งให้เข้าได้รับประโยชน์ที่เกิดจากภูมิธรรม เครื่องนำชีวิตสู่ความสำเร็จ และได้ซึมซับคุณธรรม จริยธรรมให้มากที่สุด
                2. ต้องเสียสละและใช้ความอดทนสูงในการรับภาระอันหนักหน่วง โดยเฉพาะเรื่องการตรวจแบบกิจกรรมรายบุคคล โดยขอให้ยึดหลักปรัชญา 2 ประเด็น คือ
                                2.1 เอาผู้เรียนเป็นครู หมายความว่า การตรวจงานของนักศึกษาจะทำให้เราเรียนรู้ร่วมกับผู้เรียนด้วย ที่สำคัญเราจะได้แนวคิดใหม่ ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการเรียนการสอนจากนักศึกษา บางครั้งเราอาจนึกไม่ถึงว่า โลกทัศน์ของนักศึกษานั้นช่างวิเศษจริง
                                2.2 การได้ทำหน้าที่ของครู การจัดกิจกรรมและการตรวจงานของนักศึกษายังทำให้เราได้ทำหน้าที่ของครูอีกหลายประการ เช่น ตรวจสอบแนวคิด ความผิดถูกของการเขียน คุณภาพของงาน ตลอดจนการกระทำผิดในบางเรื่อง เช่น การคัดลอกกันหรือการทำงานให้กัน เมื่อพบก็ยิ่งทำให้เราต้องทำหน้าที่ของครูในการที่จะทำในเรื่องที่ถูกต้อง เพื่อแก้ไขพฤติกรรมที่ผิดธรรมของนักศึกษา และให้เขาได้  โลกทัศน์ในการทำงานใหม่บนพื้นฐานของธรรม
                3. ใช้หลักอุเบกขา คือความเป็นกลาง ความยุติธรรมที่ต้องมีให้แก่ศิษย์ทุกคน โดยไม่เลือกที่รัก มักที่ชัง โดยยึดเกณฑ์ที่ตกลงร่วมกัน และธรรมคือความถูกต้องเป็นแบบในการปฏิบัติ
จากแนวคิดที่สรุปจากประสบการตรงในการสอนแบบสอดแทรกคุณธรรม จริยธรรมทั้งหมดที่กล่าวมา อาจเป็นตัวอย่างหนึ่งที่สามารถสร้างสัมฤทธิผล เรื่อง การสอดแทรกคุณธรรม จริยธรรมให้แก่นักศึกษาได้ในระดับหนึ่ง ซึ่งกลุ่มผู้สอนของมหาวิทยาหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ มิได้ถือว่าเป็นกิจกรรมที่ดีที่สุด สมบูรณ์ที่สุด อย่างไรก็ขอฝากไว้ให้เพื่อนครูช่วยพิจารณา หากมีเรื่องใด หลักการใดที่ควรแก้ไข หรือมีส่วนที่จะต้องเพิ่มเติมก็ขอให้ช่วยเสนอแนะด้วย กลุ่มผู้สอนฯ ขอน้อมรับคำแนะนำทุกประการ   เพื่อนำไปพัฒนา ปรับปรุงกิจกรรมด้านนี้ให้บรรลุเป้าหมายในการผลิตบัณฑิตที่พึงประสงค์ออกไปรับใช้สังคมร่วมกัน

อ้างอิง  http://www.academic.hcu.ac.th/forum/board_posts.asp?FID=219&UID=